Q2.2: เมื่อรับสัมผัส PM2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว ร่างกายสามารถขับออกมาได้หรือไม่?


A2.2: ร่างกายมีกลไกในการกำจัดสารมลพิษหากเข้าสู่ร่างกายในเบื้องต้น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้นเริ่มจากที่จมูก ซึ่งก็จะมีขนจมูกในการดักจับไว้ พอลึกลงมาที่หลอดลมจะมีเซลล์คอยดักจับคอยพัดโบกขับออกไปโดยมีการหลั่งสารคัดหลั่ง (mucus) สำหรับใช้ดักจับ ซึ่งก็จะดักจับฝุ่นที่ใหญ่กว่า 2.5 ไมครอนได้ แต่พวกฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 จะสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจส่วนลึกได้ เช่น ไปที่ถุงลมฝอย ซึ่งเป็นบริเวณที่แลกเปลี่ยนอากาศดีที่มีออกซิเจนและอากาศเสียที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ ในบริเวณนี้ร่างกายจะไม่มีการหลั่งสารคัดหลั่งเหล่านั้นออกมา เพราะผนังถุงลมฝอยบางมาก หากสารคัดหลั่งเหล่านั้นถูกขับออกมา จะไปรบกวนการแลกเปลี่ยนก๊าซ แต่ร่างกายของเรายังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังคอยทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมอยู่ ซึ่งก็จะเป็นพวกเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือพวกแมคโครฟาจ แต่อย่างไรก็ตามสารเคมีบางตัวกำจัดยากและใช้เวลากำจัดนาน ซึ่งถ้าเราได้รับเข้าไปเยอะ ก็อาจจะเกิดการสะสมและเกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ขณะเดียวกัน ถ้ามันสามารถซึมผ่านหนังถุงลมฝอยและเดินทางไปตามระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย มันก็อาจจะสามารถไปสะสมที่อวัยวะส่วนอื่นได้ด้วยเช่นกัน

ในระยะแรก ๆ แม้ว่าร่างกายจะมีการหลั่งสารคัดหลั่งบริเวณหลอดลมฝอยได้ดี แต่ถ้าได้รับสัมผัสไปเป็นระยะเวลานาน ๆ ร่างก็จะถูกกระตุ้นให้มีการหลั่งสารพวกนั้นมากขึ้น ขณะเดียวกันผนังหลอดลมก็จะค่อย ๆ หนาขึ้น จนมีขนาดแคบลง และป่วยเป็นโรคหอบหืด (Asthma) หรือโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีการพัฒนาของอาการหลังจากเข้าสู่วัยกลางคน ซึ่งโรคหอบหืดก็อันตรายเช่นกัน เพราะถ้าป่วยเป็นโรคนี้แล้วมีการได้รับสารมลพิษทางอากาศบางตัว เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซโอโซน หรือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เข้าไป มันจะไปกระตุ้นให้อาการของโรคหอบหืดหรือโรคทางเดินหายใจนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นพิเศษ

(แหล่งที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)