Q3.1: ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างไร?


A3.1: แม้มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ประชาชนก็สามารถป้องกันได้ โดยป้องกันไม่ให้มลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกายหรือให้เข้าน้อยที่สุด และดูแลไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้

1) ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ การประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศจากสื่อต่าง ๆ หรือช่องทางอื่น ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โทรทัศน์ท้องถิ่น วิทยุชุมชน เป็นต้น โดยให้สังเกตสีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

2) ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและต้องดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ

3) ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน

4) ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 และต้องใส่ให้ถูกวิธี

5) หากมีอาการระคายเคืองตาหรือแสบตา ไม่ควรขยี้ตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด สำหรับผู้ที่เป็นต้อลม ต้อเนื้อ หรือภูมิแพ้บริเวณดวงตา รวมทั้งผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ ควรหาแว่นตาที่มีขอบด้านบนและด้านข้าง และหากมีอาการผิดปกติ เช่น คันตามาก ตาแดงมาก มีขี้ตาสีเขียวหรือเหลือง หรือตามัวลง ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ (รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์, 2562 ; นพ.นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์, 2562)

6) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ โดยการเช็ด/ถู แบบเปียก และเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน

7) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงเช้า และบริเวณที่มีฝุ่นสูง เช่น ริมถนน และห้ามสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นทุกชนิดขณะออกกำลังกายโดยเด็ดขาด หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน

8) ดื่มน้ำสะอาด และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

9) สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายและคนในครอบครัว หากพบว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรืออาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

10) มีส่วนร่วมในการลดปริมาณมลพิษทางอากาศ เช่น ลดการใช้น้ำมันดีเซล ใช้รถสาธารณะ ไม่เผาขยะ/ใบไม้ และปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงควรดูแลตัวเองหรือได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้

กลุ่มเสี่ยง การดูแลตนเอง
กลุ่มเด็กเล็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเล็กเบื้องต้น ดังนี้
  • ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 แก้วต่อวัน
  • เด็กที่มีโรคประจำตัว ควรดูแลอย่างใกล้ชิด เตรียมยาประจำตัวให้พร้อม หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์
  • กลุ่มนักเรียน
  • โรงเรียนควรแจ้งสถานการณ์/ให้ความรู้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เสียงตามสาย เพื่อให้นักเรียนรับรู้และปฏิบัติตนได้ถูกต้อง
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร
  • กรณีต้องออกนอกอาคารเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากป้องกัน PM2.5
  • ขอความร่วมมือร้านอาหาร/ร้านค้าแผงลอย ทั้งในและนอกโรงเรียน ปิ้งย่างโดยใช้เตาไร้ควัน
  • กลุ่มผู้สูงอายุ
  • ควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกัน PM2.5 และไม่อยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวัน
  • เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
  • ให้สังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ (ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เมื่อยล้าผิดปกติ) ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดและไปพบแพทย์ทันที
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวัน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
  • ให้สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ (ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เมื่อยล้าผิดปกติ) ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดและไปพบแพทย์ทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • คนที่ทำงานนอกอาคาร/กลางแจ้ง
  • ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง
  • ลดระยะเวลาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และพักนานขึ้น
  • หากมีโรคประจำตัว ควรเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่นชั่วคราว

  • (แหล่งที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)