A5.5: แม้องค์การอนามัยโลกจัดให้ PM2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมลพิษทางอากาศตัวอื่นๆ ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแบบกึ่งเฉียบพลันกึ่งเรื้อรัง แต่ยังไม่เข้าขั้นเฉียบพลันทันที (acute effect) เหมือนก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และอื่นๆ ที่ต้องกำหนดมาตรฐานความเข้มข้นเป็นค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมงและต้องจัดการคุณภาพอากาศให้ได้ตามมาตรฐานนั้นตลอดเวลา ค่ามาตรฐานของ PM2.5 จึงเหมาะจะคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงมากกว่า
นอกจากนี้ PM2.5 เป็นมลพิษที่ก่ออันตรายหรือโรคเรื้อรัง หากรับเข้าสู่ร่างกายสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงต้องกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยระยะยาว 1 ปีควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยในลักษณะเรื้อรัง (chronic effect)
(แหล่งที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)