A5.6: วิธีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ประกอบด้วยวิธีการตรวจวัดที่เป็นวิธีมาตรฐาน (Reference Method) และวิธีเทียบเท่า (Equivalent Method) โดยการตรวจวัดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีวิธีการดังนี้
1. เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ได้รับการรับรองให้ใช้เป็นเครื่องอ้างอิงได้ โดยเก็บตัวอย่างอากาศไปตรวจหาระดับมลพิษโดยตรง เป็นเครื่องที่ให้ค่าการตรวจวัดที่ได้มาตรฐานที่สุด ซึ่งหน่วยงานของรัฐมักจะใช้ในสถานีตรวจวัดต่างๆ ข้อเสียคือราคาแพง และใช้เวลาในการตรวจวัดค่อนข้างนาน จึงไม่ได้ค่าที่เป็น realtime
2. เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ได้รับการรับรองเทียบเท่ากับเครื่องอ้างอิง เช่น TEOM, BAM และ EDM 180 เป็นต้น ข้อดีกว่าแบบแรกคือสามารถได้ค่าตรวจวัดเร็วกว่า เช่น เป็นรายชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น แต่ก็ยังมีราคาค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศมีราคาแพง และมีการติดตั้งในบางพื้นที่ เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซ็นเซอร์ขนาดเล็ก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนในการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในอาคารและเฝ้าระวังด้วยตนเอง
เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็ก มีราคาและคุณภาพที่หลากหลาย หลักการของการตรวจวัดความเข้มข้นของสารอนุภาคของเซนเซอร์ เป็นการวัดทางอ้อมโดยอาศัยคุณสมบัติการกระเจิงของแสงที่ส่อง ผ่านสารอนุภาคขนาดต่าง ๆ (Light Scattering) และประมวลผล ออกมาเป็นความเข้มข้นของสารอนุภาคขนาดต่าง ๆ ข้อดีของเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็ก คือ หาง่าย ราคาถูกกว่าเครื่องวัดมาตรฐาน อย่างดีก็ดี เครื่องเซนเซอร์ขนาดเล็กจะถูกออกแบบและสอบเทียบให้ใช้งานภายในอาคาร ดังนั้น ในการนำมาประกอบเป็นเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศเพื่อนำไปใช้งานนอกอาคาร ซึ่งจะมีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกรบกวน ค่าที่ได้จากการวัดเป็นอย่างมาก เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์แรงและทิศทางลม เป็นต้น
ดังนั้น ในเบื้องต้น ประชาชนสามารถใช้เพื่อดูแนวโน้มและเฝ้าระวังสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยตนเองได้ในเบื้องต้น แต่ไม่สามารถใช้เพื่อการอ้างอิงได้
(แหล่งที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)